ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรค: คอหอยอักเสบ (Pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)  (อ่าน 285 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 389
    • ดูรายละเอียด
การอักเสบของคอหอยและทอนซิล มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ และเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ (ตรวจอาการ เจ็บคอ ประกอบ)

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการอักเสบจากโรคติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากไวรัสและแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A betahemolytic Streptococcus)* ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

* เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Streptococcus pyogenes


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งไวรัสอื่น ๆ อีกหลายชนิด บางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีอยู่หลายชนิด เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสมือผู้ป่วย สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด

เชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ คือ บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง (exudative tonsillitis) ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี และอาจพบในผู้ใหญ่เป็นครั้งคราว แต่จะพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โรคนี้อาจติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น ตามโรงเรียน หอพัก เป็นต้น

ระยะฟักตัว 2-7 วัน


อาการ

กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส จะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ไม่เจ็บตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย

ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก อาจมีอาการปวดร้าวไปที่หู บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดงแบบการอักเสบจากไวรัส


ภาวะแทรกซ้อน

กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น

ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ อาจมีภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

1. เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงทำให้หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีทอนซิล (peritonsillar abscess) ซึ่งอาจโตจนทำให้กลืนลำบากหรือหายใจลำบาก

2. เชื้ออาจแพร่เข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

3. โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติก และ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune reaction) สำหรับไข้รูมาติกมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 0.3-3 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

ข้อมูลโรค: คอหอยอักเสบ (Pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions