ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรคกล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)  (อ่าน 138 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 438
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลโรคกล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)

กล่องเสียง (larynx) เป็นส่วนที่อยู่ถัดลงไปจากคอหอย (pharynx) และอยู่ตรงส่วนบนของท่อลม (trachea)

การอักเสบของกล่องเสียงเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ส่วนมากจะไม่มีอาการรุนแรงและหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์


สาเหตุ

การอักเสบของกล่องเสียงมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยมากจะเกิดร่วมกับไข้หวัด เจ็บคอ หรือหลอดลมอักเสบ ส่วนน้อยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

บางครั้งอาจเกิดจากการระคายเคือง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้เสียงมาก (เช่น ร้องเพลง สอนหนังสือ เป็นต้น) หรือเกิดจากการระคายเคืองจากน้ำย่อยในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน

อาการ

ที่สำคัญ คือเสียงแหบแห้ง บางรายอาจเป็นมากจนไม่มีเสียง อาจรู้สึกเจ็บคอเวลาพูด

บางรายอาจมีอาการไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอร่วมด้วย

โดยทั่วไป มักเป็นอยู่ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกิดจากการระคายเคืองมักมีอาการเสียงแหบเรื้อรัง


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนมากมักหายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อที่พบร่วม อาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจตรวจพบมีไข้ น้ำมูกไหล หรือคอแดงร่วมด้วย

บางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เกิดจากการระคายเคือง

ในรายที่มีอาการเรื้อรัง หรือสงสัยมีความผิดปกติของกล่องเสียงหรือโรคกรดไหลย้อน แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง (laryngoscopy) ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร (gastroscopy)


การรักษาโดยแพทย์

นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ

2. เฉพาะในรายที่สงสัยจะมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีเสมหะเหลืองหรือเขียว หรือคอแดงจัด ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคอะม็อกซิคลาฟ อีริโทรไมซิน หรือร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น)

3. ถ้ามีอาการหอบ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจมีสาเหตุจากคอตีบ หรือครู้ป

4. ถ้าเสียงแหบเป็นอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ก็มักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่อาจมีหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบแทรกซ้อน

การดูแลตนเอง

ในรายที่มีเสียงแหบ โดยที่สุขภาพทั่วไปดี กินอาหารและทำงานได้เป็นปกติ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    พักการใช้เสียง ควรหยุดพูดรวมทั้งการกระซิบ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
    งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ วันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร)
    สูดดมไอน้ำอุ่นบ่อย ๆ
    ถ้ามีไข้ กินยาลดไข้-พาราเซตามอล*

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้เกิน 4 วัน ไข้สูงตลอดเวลา หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
    มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวทุกครั้งนานเกิน 24 ชั่วโมง
    มีอาการเจ็บคอมาก หรือหายใจลำบาก
    คลำได้ก้อนที่ข้างคอ
    มีอาการเสียงแหบนานเกิน 3 สัปดาห์
    ดูแลตนเอง 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น
    มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก
    มีประวัติการแพ้ยา หรือหลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ

การป้องกัน

ควรหาทางป้องกันตามสาเหตุที่ทำให้เสียงแหบ อาทิ

    พักการใช้เสียง ในรายที่เกิดจากการใช้เสียงมาก
    งดบุหรี่/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าเป็นสาเหตุของอาการเสียงแหบ
    ในรายที่เกิดจากไข้หวัด ก็หาทางป้องกันไม่ให้เป็นหวัด
    ในรายที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน ควรดูแลรักษาโรคนี้ไม่ให้กำเริบบ่อย (ดู “โรคกรดไหลย้อน”)

ข้อแนะนำ

1. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

2. อาการเสียงแหบมักพบในผู้ที่เป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด และผู้ที่ใช้เสียงมาก (เช่น ครู นักเทศน์ นักร้อง เป็นต้น) โดยมากจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน เมื่อได้รับการดูรักษาแล้ว เสียงควรจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

แต่ถ้าพบว่ามีอาการเสียงแหบติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ อาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    ปุ่มเนื้อของสายเสียง (vocal cord nodules) เป็นปุ่มเนื้องอกเล็ก ๆ ที่เติบโตจากเซลล์เยื่อบุผิว (epithelium) ของสายเสียง มีสาเหตุมาจากการใช้เสียงมากเกิน เช่น ครู นักเทศน์ นักร้อง เป็นต้น การพักใช้เสียงเป็นเวลาหลายสัปดาห์อาจทำให้ปุ่มยุบหายไปได้เอง ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องตัดออก ผู้ที่เป็นโรคนี้แพทย์จะฝึกการใช้เสียง (voice therapy) ให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นซ้ำอีก
    ติ่งเนื้อเมือกของสายเสียง (vocal cord polyps) เป็นเนื้องอกของเซลล์เยื่อเมือก (mucous membranes) ของสายเสียง เกิดจากภาวะภูมิแพ้ หรือการระคายเคืองเรื้อรัง (เช่น สูบบุหรี่) มักต้องรักษาด้วยการผ่าตัดติ่งเนื้อออกไป
    หูดกล่องเสียง (laryngeal papillomatosis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า human papillomavirus (HPV) ทำให้เกิดเนื้องอก (หูด) ตรงสายเสียงและกล่องเสียง ทำให้มีเสียงแหบเรื้อรัง ถ้าก้อนโตอาจอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และจะหายได้เองเมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว มักจะต้องรักษาด้วยการตัดออก
    โรคกรดไหลย้อน ทำให้มีอาการเจ็บคอเสียงแหบ หรือไอเรื้อรัง มักเป็นมากหลังตื่นนอน (ดู “โรคกรดไหลย้อน”)
    แผลสายเสียง (contact ulcer of vocal cord) พบในผู้ที่ใช้เสียงมากเกิน สูบบุหรี่ ไอเรื้อรัง หรือผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ทำให้มีอาการเสียงแหบ เจ็บเวลาพูดหรือกลืน ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการใช้เสียง ต้องพักการใช้เสียงนาน 6 สัปดาห์ และฝึกการใช้เสียงให้ถูกต้อง ถ้าเกิดจากโรคกรดไหลย้อนก็ต้องให้ยาลดการสร้างกรด เป็นต้น
    มะเร็งกล่องเสียง พบมากในผู้ชายสูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน
    สายเสียงเป็นอัมพาต (vocal cord paralysis) อาจเกิดจากโรคทางสมอง (เช่น เนื้องอกสมอง อัมพาต) หรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ โดยตัดถูกเส้นประสาท (laryngeal nerve) ที่ควบคุมการทำงานของสายเสียง ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการเสียงแหบอย่างถาวร
    วัณโรคกล่องเสียง (tuberculous laryngitis) ทำให้มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง อาจมีอาการของวัณโรค (เช่น ไข้เรื้อรัง ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้